ชวนดูปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน เป็นแบบผสม

ปรากฏการณ์ สุริยุปราคาบางส่วน จะสังเกตได้บางพื้นที่ทางภาคใต้ อีสาน และตะวันออก

รายละเอียด

 วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 เกิดสุริยุปราคาผสม สุริยุปราคาชนิดนี้ พื้นที่ส่วนหนึ่งตามแนวเส้นกลางคราส ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย จึงเป็นสุริยุปราคาวงแหวน อีกส่วนหนึ่งเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย จึงเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง เรียกปรากฏการณ์ที่มีสุริยุปราคาทั้งสองชนิดนี้ในคราวเดียวกันว่าสุริยุปราคาผสม

     เงาดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกตั้งแต่เวลา 08:34 น. ตามเวลาประเทศไทย ศูนย์กลางเงาเริ่มแตะผิวโลก หรือเริ่มเกิดสุริยุปราคาวงแหวนในเวลา 09:37 น. เกิดขึ้นทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย หลังจากนั้นไม่นาน สุริยุปราคาวงแหวนจะเปลี่ยนเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านแนวชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียในประเทศออสเตรเลีย บริเวณที่สังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงได้ดีอยู่บริเวณเมืองเอกซ์มัทซึ่งตั้งอยู่บนแหลมนอร์ทเวสต์ รวมถึงเกาะบาร์โรว์ที่อยู่ถัดไปทางตะวันออกของแหลมนี้ ผู้ที่อยู่กลางแนวคราสสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้นานประมาณ นาที
     
     เงามืดของดวงจันทร์เคลื่อนผ่านทะเลติมอร์ บางส่วนของติมอร์-เลสเตสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้ จากนั้นเงามืดเข้าสู่ทะเลบันดาของอินโดนีเซีย จุดที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่ในทะเล เกิดขึ้นเวลา 11:17 น. เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนาน นาที 16 วินาที โดยดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ราว 1.3% และเงามืดบนผิวโลกมีความกว้างราว 49 กิโลเมตร
     
     เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านปาปัวตะวันตกของอินโดนีเซีย แล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตอนปลายของแนวกลางคราส สุริยุปราคาเต็มดวงจะเปลี่ยนไปเป็นสุริยุปราคาวงแหวนอีกครั้ง เวลา 12:57 น. แนวคราสวงแหวนออกจากผิวโลกในตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ปรากฏการณ์สิ้นสุดลงเมื่อเงามัวของดวงจันทร์ออกจากผิวโลกเวลา 13:59 น.
     
     บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมบางส่วนของมหาสมุทรอินเดีย บางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก


ขอบคุณข้อมูล : สมาคมดาราศาสตร์ไทย